เมนู

อรรถกถามหาโกฏฐิตเถรคาถา


คาถาของท่านพระมหาโกฏฐิตเถระ เริ่มต้นว่า อุปสนฺโต. ท่านมี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ?
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ แม้
พระเถระนี้ ก็บังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมาก ในพระนครชื่อว่าหงสาวดี
เจริญวัยเติบใหญ่แล้ว สืบทอดสมบัติ โดยที่มารดาบิดาล่วงลับไป อยู่ครอบ-
ครองเรือน วันหนึ่งเห็นชาวเมืองหงสาวดี ถือของหอมและระเบียบเป็นต้น
มีจิตน้อมโน้ม โอนไปหาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เดินไปในเวลา
เป็นที่แสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ก็เดิน
เข้าไปพร้อมกับมหาชน เห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง เป็นเอตทัคคะ
เลิศกว่าภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้งหลายคิดว่า ได้ยินว่า ภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุ
ทั้งหลายผู้ถึงปฏิสัมภิทาในพระศาสนานี้ ไฉนหนอ แม้เราก็พึงถึงความเป็นผู้เลิศ
ด้วยปฏิสัมภิทาญาณ เหมือนภิกษุนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ดังนี้ ในเวลาที่พระศาสดาจบพระธรรมเทศนาลง ก็ตรงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคเจ้า ทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงรับ
ภิกษาของข้าพระองค์ ในวันพรุ่งนี้ พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว.
เขาถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกระทำประทักษิณไปยังเรือน
ของตน ประดับตกแต่งที่สำหรับนั่งของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ จัดแจง
ขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตอยู่ตลอดคืนยังรุ่ง ครั้นรัตติกาลนั้นผ่านไป
ก็อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า มีภิกษุหนึ่งแสนรูปเป็นบริวาร ให้เสวยโภชนะ
แห่งข้าวสาลี อันหอมละมุน มีสูปะและพยัญชนะหลากรส มีข้าวยาคูและของ

เคี้ยวหลายอย่างเป็นบริวาร ในเวลาเสร็จภัตกิจแล้ว คิดว่า เราปรารถนา
ตำแหน่งใหญ่มากหนอ ก็การถวายทานเพียงวันเดียว แล้วปรารถนาตำแหน่ง
นั้น ไม่สมควรแก่เราเลย เราจักถวายทานตลอด 7 วัน โดยลำดับ แล้วจึง
ปรารถนา ดังนี้.
เขาถวายมหาทานอยู่ตลอด 7 วัน โดยทำนองนั้นแหละ ในเวลาเสร็จ
ภัตกิจแล้ว สั่งให้คนเปิดคลังผ้า วางผ้าเนื้อละเอียด พอทำจีวรอันมีราคาสูงสุด
ไว้ที่บาทมูลของพระพุทธเจ้า และถวายไตรจีวรแด่ภิกษุแสนรูป เข้าไปเฝ้า
พระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับย้อนหลังจากนี้ไป
7 วัน พระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปใดไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ แม้ข้าพระองค์
ก็พึงบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้จะเสด็จอุบัติในอนาคตกาล แล้วพึง
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณเถิด ดังนี้ แล้วหมอบลง
แทบบาทมูลของพระศาสดา ทำความปรารถนาแล้ว.
พระศาสดา ทรงเห็นความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขาแล้ว ทรง
พยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล ในที่สุดแห่งแสนกัป นับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้า
ทรงพระนามว่า โคดม จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก. ความปรารถนาของท่าน จัก
สำเร็จในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคดม นั้น. แม้ในอปทาน-
ท่านก็กล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
ในกัปนับจากภัทรกัปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิต-
มาร ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง
เป็นมุนี มีจักษุได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์ตรัสสอน
ทรงแสดงให้สัตว์รู้ชัดได้ ทรงยังสรรพสัตว์ให้ข้าม
วัฏสงสาร ทรงฉลาดในเทศนา เป็นผู้เบิกบาน ทรง
ช่วยให้ประชาชนข้ามพ้นได้เป็นอันมาก พระองค์เป็น

ผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา แสวงหา
ประโยชน์ให้สรรพสัตว์ ทรงยังเดียรถีย์ที่มาเฝ้า ให้
ดำรงอยู่ในเบญจศีลได้ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ พระ-
ศาสนาจึงไม่มีความอากูล ว่างสูญจากเดียรถีย์ วิจิตร
ด้วยพระอรหันต์ผู้คงที่ มีความชำนิชำนาญ พระมหา
มุนีพระองค์นั้น สูงประมาณ 58 ศอก มีพระฉวีวรรณ
งดงาม คล้ายทองคำล้ำค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ
32 ประการ ครั้งนั้น อายุของสัตว์ยืนประมาณแสนปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น เมื่อดำรงพระชนม์อยู่โดยกาล
ประมาณเท่านั้น ได้ทรงยังประชาชนเป็นอันมาก ให้
ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้ ครั้งนั้นเราเป็นพราหมณ์
ผู้เรียนจบไตรเพท ในพระนครหงสาวดี ได้เข้า
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้เลิศกว่าโลกทั้งปวง แล้วสดับ
พระธรรมเทศนา ครั้งนั้นพระธีระเจ้าพระองค์นั้น
ทรงตั้งสาวกผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ฉลาดในอรรถ
ธรรม นิรุตติ และปฏิภาณในตำแหน่งเอตทัคคะ เรา
ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ชอบใจ จึงได้นิมนต์พระชินวรเจ้า
พร้อมด้วยพระสาวกให้เสวยและฉัน ถึง 7 วัน ใน
กาลนั้น เรายังพระพุทธเจ้าผู้เปรียบด้วยสาคร พร้อม
ทั้งพระสาวกให้ครองผ้า แล้วหมอบลงแทบบาทมูล
ปรารถนาฐานันดรนั้น ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ว่าโลก ได้ตรัสว่า จงดูพราหมณ์ผู้สูงสุด ที่หมอบอยู่

แทบเท้าผู้นี้ มีรัศมีเหมือนกลีบดอกบัว พราหมณ์นี้
ปรารถนาตำแหน่งแห่งภิกษุผู้แตกฉาน ซึ่งเป็น
ตำแหน่งประเสริฐสุด เพราะการบริจาคทานด้วย
ศรัทธานั้น และเพราะการสดับพระธรรมเทศนา
พราหมณ์นี้จักเป็นผู้ถึงสุขในทุกภพ เที่ยวไปในภพ
น้อยภพใหญ่ จักได้สมมโนรถเช่นนี้ ในกัปนับแต่นี้ไป
แสนหนึ่ง พระศาสดามีพระนามว่า โคดม ซึ่งสมภพ
ในวงศ์พระเจ้าโอกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก
พราหมณ์นี้จักเป็นธรรมทายาท ของพระศาสดาพระ-
องค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมเนรมิต เป็นสาวกของ
พระศาสดา มีนามว่าโกฏิฐิตะ เราได้ฟังพระพุทธ-
พยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วย
เมตตา บำรุงพระชินสีห์เจ้า ตราบเท่าสิ้นชีวิตใน
ครั้งนั้น เพราะเราเป็นผู้มีสติประกอบไปด้วยปัญญา
เพราะผลแห่งกรรมนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนง
ไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เราได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก 300 ครั้ง ได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ 500 ครั้ง และได้เป็นเจ้าประเทศราช
อันไพบูลย์ โดยเวลาสุดคณานับ เพราะกรรมนั้นนำไป
เราจึงเป็นผู้ถึงความสุขในทุกภพ เราท่องเที่ยวไปแต่
ในสองภพ คือในเทวดาและมนุษย์ คติอื่นเราไม่รู้จัก
นี้เป็นผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ดี เราเกิดแต่ในสอง

ตระกูล คือตระกูลกษัตริย์ และตระกูลพราหมณ์
หาเกิดในตระกูลต่ำทรามไม่มี นี้เป็นผลแห่งกรรมที่
สั่งสมไว้ดี เมื่อถึงภพสุดท้าย เราเป็นบุตรของพราหมณ์
เกิดในตระกูลที่มีทรัพย์สมบัติมา ในพระนครสาวัตถี
มารดาของเราชื่อจันทวดี บิดาชื่ออัสสลายนะ ใน
คราวที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำบิดาเรา เพื่อความ
บริสุทธิ์ทุกอย่าง เราเลื่อมใสในพระสุคตเจ้า ได้ออก
บวชเป็นบรรพชิต พระโมคคัลลานะ เป็นอาจารย์
พระสารีบุตร เป็นอุปัชฌาย์ เราตัดทิฏฐิพร้อมด้วย
มูลรากเสียได้ ในเมื่อกำลังปลงผม และเมื่อกำลัง
ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัต เรามี
ปรีชาแตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ และปฏิภาณ
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เลิศกว่าโลก จึงทรงตั้ง
เราไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เราอันท่านพระอุปติสสะ
ไต่ถามในปฏิสัมภิทา ก็แก้ได้ไม่ขัดข้อง ฉะนั้น เรา
จึงเป็นผู้เลิศในพระศาสนา เราเผากิเลสทั้งหลายสิ้น
แล้ว ถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกพัน
ดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่เรา
ได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมา
ดีแล้วหนอ วิชชา 3 เราได้บรรลุแล้ว โดยลำดับ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำเสร็จแล้ว คุณ
พิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ
อภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระ-
พุทธเจ้า เราทำเสร็จแล้ว
ดังนี้.

เขาสั่งสมซึ่งบุญและญาณสมภาร ในภพนั้น ๆ อย่างนี้แล้ว ท่องเที่ยว
ไป ๆ มา ๆ ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล
กรุงสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้. มารดาบิดาได้ขนานนามเขาว่า "โกฏฐิตะ".
โกฏฐิตมาณพนั้น เจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท สำเร็จศิลปศาสตร์
ของพราหมณ์ วันหนึ่ง ไปยังสำนักของพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว ได้มีศรัทธา
บวชแล้ว จำเดิมแต่เวลาที่ได้อุปสมบทแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เป็นผู้ชำนาญเชี่ยวชาญ ในปฏิสัมภิทาญาณ
เข้าไปหาพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแล้ว ถามปัญหาก็ดี เข้าเฝ้าพระทศพล
แล้ว ทูลถามปัญหาก็ดี ก็ถามปัญหาเฉพาะในปฏิสัมภิทาเท่านั้น.
พระเถระรูปนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เพราะ
เป็นผู้มีอธิการอันการทำไว้แล้วในภพนั้น และเพราะเป็นผู้มีความชำนาญ ที่
สั่งสมไว้แล้ว ด้วยประการดังพรรณนามานี้
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงกระท่านหาเวทัลลสูตร ให้เป็นอัตถุปปัติ
ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ
โดยมีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาโกฏฐิตะเลิศกว่าพวก
ภิกษุสาวกของเราผู้บรรลุปฏิสัมภิทา. สมัยต่อมา เมื่อท่านเสวยวิมุตติสุขได้กล่าว
คาถา โดยเปล่งเป็นอุทาน ได้ยินว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ได้ภาษิตคาถานี้
ไว้อย่างนี้ว่า
บุคคลผู้สงบ งดเว้นจากการทำความชั่ว พูดด้วย
ปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลาย
เหมือนลมพัดใบไม้ ให้ร่วงหล่นไปฉะนั้น
ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปสนฺโต ความว่า บุคคล ชื่อว่า
สงบแล้ว เพราะกระทำความสงบระงับ อินทรีย์ทั้งหลายมีมนะเป็นที่ 6 โดย
กระทำให้หมดพยศ.
บทว่า อุปรโต ความว่า งดคือเว้นจากการทำความชั่วทุกอย่าง.
บทว่า มนฺตภาณี ความว่า ปัญญา ท่านเรียกว่า มันตา ก็บุคคล
ชื่อว่า มันตภาณี เพราะพิจารณาด้วยปัญญานั้นแล้วจึงกล่าว. อธิบายว่า
กล่าวโดยไม่ละความเป็นผู้กล่าวในกาลเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลชื่อว่า
มนฺตภาณี เพราะกล่าวด้วยสามารถแห่งการกล่าวมนต์. อธิบายว่า เว้นคำ
ที่เป็นทุภาษิต กล่าวแต่คำที่เป็นสุภาษิต อันประกอบด้วยองค์ 4 เท่านั้น
โดยการกล่าวของตน. บุคคลชื่อว่า อนุทฺธโต (ไม่ฟุ้งซ่าน) เพราะไม่ฟุ้งซ่าน
โดยการยกตน ด้วยสามารถแห่งชาติเป็นต้น.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สงบแล้ว เพราะสงบกายทุจริต 3 ได้ โดย
เว้นขาดจากกายทุจริตนั้น ชื่อว่า งดเว้น เพราะงดเว้น คือ ละมโนทุจริต
ทั้ง 3 ได้. ชื่อว่า พูดด้วยปัญญา เพราะพูดละเมียดละไม ไม่ล่วงละเมิด
วจีทุจริต 4. ชื่อว่า ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีความฟุ้งซ่านอันเกิดแต่นิมิต คือ
ทุจริต 3 อย่าง. ก็ผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ โดยละทุจริต 3 อย่างได้ เช่นนี้
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น เพราะละอุทธัจจะได้กระทำสมาธินั้นแหละให้เป็นปทัฎฐาน
เจริญวิปัสสนาแล้ว ย่อมชื่อว่า กำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้ คือ ขจัดสังกิเลส-
ธรรม ที่ชื่อว่าลามก เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความลามกได้แม้ทุกอย่าง ตามลำดับ
แห่งมรรค ได้แก่ ละได้ด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทปหาน. เหมือนอะไร ?
เหมือนลมพัดใบไม้ให้ร่วงไปฉะนั้น. อุปมาเหมือนลม (มาลุตะ) ย่อมกำจัดใบ
คือ ใบที่เหลืองของต้นไม้ คือ ให้สลัดหลุดจากขั้ว ฉันใด ผู้ที่ตั้งอยู่ใน

ข้อปฏิบัติ ตามที่กล่าวแล้วก็ฉันนั้น ย่อมนำบาปธรรมทั้งปวงออกจากสันดาน
ของตนได้. พึงทราบว่า คาถานี้ของพระเถระ ก็จัดว่าเป็นคาถาพยากรณ์
อรหัตผลโดยการอ้างถึงพระอรหัตผล.
ก็ในคาถานี้ ท่านแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งประโยค ด้วยการกล่าวถึง
การละกายทุจริต และวจีทุจริต แสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งอาสยะ ด้วยการ
กล่าวถึงการละมโนทุจริต แสดงถึงการละนิวรณ์ ของท่านผู้มีประโยคและ
อาสยะบริสุทธิ์อย่างนี้ เพราะตั้งอยู่ในความไม่ฟุ้งซ่านนั้น ด้วยการกล่าวถึง
ความไม่มีอุทธัจจะ นี้ว่า "อนุทฺธโต" บรรดาประโยค และอาสยะเหล่านั้น
ศีลสมบัติย่อมแจ่มแจ้ง ด้วยความบริสุทธิ์แห่งประโยค. การกำหนดธรรมที่เป็น
อุปการะต่อสมถภาวนา ย่อมแจ่มแจ้ง ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอาสยะ สมาธิภาวนา
ย่อมแจ่มแจ้ง ด้วยการละนิวรณ์. ปัญญาภาวนา ย่อมแจ่มแจ้ง ด้วยบาทคาถา
นี้ว่า ธุนาติ ปาปเก ธมฺเม (ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้).
ด้วยประการดังพรรณนามานี้ สิกขา 3 มีอธิศีลสิกขาเป็นต้น คำสอน
ที่งาม 3 อย่าง ปหาน 3 มีตทังคปหานเป็นต้น ข้อปฏิบัติโดยมัชฌิมาปฏิทา
พร้อมกับการเว้นส่วนสุด 2 อย่าง และอุบายเป็นเครื่องก้าวล่วงภพในอบาย
เป็นต้น บัณฑิตพึงเอามาขยายประกอบความตามเหมาะสม. แม้ในคาถาที่เหลือ
ก็พึงทราบการประกอบความตามสมควรโดยนัยนี้. ก็ข้าพเจ้าจะพรรณนาเพียง
ใจความเท่านั้น ในตอนหลัง ในคาถานั้น ๆ. คำว่า อิตฺถํ สุทํ อายสฺมา
มหาโกฏฺฐิโต
ได้ยินว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตะ (ได้ภาษิตคาถานี้ไว้) อย่างนี้
นี้ เป็นคำกล่าวยกย่องอย่างเดียวกันกับกล่าวยกย่องพระมหาโมคคัลลานะ
ฉะนี้แล.
จบอรรถกถามหาโกฏฐิตเถรคาถา

3. กังขาเรวตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระกังขาเรวตเถระ


[140] ได้ยินว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระ ได้ภาษิตคาถานี้ไว้
อย่างนี้ว่า
ท่านจงดูปัญญานี้ ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย
ดังไฟอันรุ่งเรืองในเวลาพลบค่ำ พระตถาคต เหล่าใด
ย่อมกำจัดความสงสัย ของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้มา
เฝ้าถึงสำนักของพระองค์ พระตถาคตเหล่านั้น ย่อม
ชื่อว่า เป็นผู้ให้แสงสว่าง เป็นผู้ให้ดวงตา.

อรรถกถากังขาเรวตเถรคาถา


คาถาของท่านพระกังขาเรวตะ เริ่มต้นว่า ปญฺญํ อิมํ ปสฺส.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ แม้
พระเถระนี้ ก็เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล กรุงหงสาวดี วันหนึ่งในเวลา
แสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เขาไปวิหารพร้อมกับมหาชน
โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงตั้ง
ภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌานคิดว่าในอนาคต
แม้เราก็ควรเป็นเช่นกับภิกษุรูปนี้ ดังนี้ ในเวลาจบเทศนา นิมนต์พระศาสดา